วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประวัติประเทศบรูไนดารุสซาราม



บรูไนดารุสซาลาม 

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ 
ที่ตั้ง: ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือบนเกาะบอร์เนียว ในทะเลจีนใต้ แบ่งออกเป็น 4 เขต คือ เขต Brunei-Muara เขต Belait เขต Temburong และเขต Tutong
พื้นที่: 5,765 ตารางกิโลเมตร เป็นผืนแผ่นดิน 5270 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ 70% เป็นป่า เขตร้อน) และเป็นผืนน้ำ 500 ตารางกิโลเมตรโดย
ดินแดนอาณาเขต: รวม 381 กิโลเมตร มีดินแดนอาณาเขตติดกับประเทศมาเลเซียทั้งหมด
เขตชายฝั่ง: 161 กิโลเมตร
เมืองหลวง: บันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan)
ภูมิอากาศ: อากาศโดยทั่วไปค่อนข้างร้อนชื้น มีปริมาณฝนตกค่อนข้างมาก และมี อุณหภูมิอบอุ่น โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส
ภูมิประเทศ: พื้นที่ชายฝั่งสูงขึ้นเป็นภูเขาทางทิศตะวันออก และเนินเขาต่ำทางทิศตะวันตก
ทรัพยากรธรรมชาติ: ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และไม้
ภัยธรรมชาติ: ไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว และอุทกภัย
สิ่งแวดล้อม (ปัญหาปัจจุบัน): ควันจากไฟป่าในอินโดนีเซีย
สิ่งแวดล้อม (ความตกลงระหว่างประเทศ) : เป็นสมาชิกความหลากหลายทางชีวภาพ ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ สิ่งมีชีวิตที่ใกล้ สูญพันธ์ การปรับตัวของสิ่งแวดล้อม ขยะอันตราย การปกป้องชั้นบรรยากาศ ภาวะมลพิษจากเรือ

ประชากร 
ประชากร: 374,577 คน (ประมาณการ ปี 2550)
โครงสร้างอายุ: 0-14 ปี : 27.8% (เพศชาย 53,512 เพศหญิง 50,529) 15-64 ปี : 69 % (เพศชาย 130,134 เพศหญิง 128,488) 65 ปี และสูงกว่า : 3.1% (เพศชาย 5,688 เพศหญิง 6,226)
อัตราการเติบโตของประชากร: 1.81% ต่อปี (ประมาณการ ปี 2550)
สัญชาติ: ชาวบรูไน (Bruneian)
กลุ่มชนพื้นเมือง: มาเลย์ 67% จีน 15% ชาวพื้นเมือง 6% อื่นๆ 12%
ศาสนา: ศาสนาประจำชาติ คือ อิสลาม 67% และศาสนาอื่น ได้แก่ พุทธ 13% คริสต์ 10% และอื่นๆ 10%
ภาษา: ภาษามาเลย์ (Malay หรือ Bahasa Melayu) เป็นภาษาราชการ รองลงมาเป็น ภาษาอังกฤษ และจีน
การศึกษา: 92.7% ของประชากรทั้งหมดอ่านออกเขียนได้

รัฐบาล 
รูปแบบการปกครอง: สมบูรณาญาสิทธิราช
เขตการปกครอง: แบ่งเป็น 4 เขต คือ Brunei-Muara, Belait, Temburong, Tutong
รัฐธรรมนูญ: 29 กันยายน 2502 (แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527)
ระบบกฎหมาย: ใช้หลักกฎหมายอังกฤษ สำหรับชาวมุสลิม ใช้ Islamic Shari'a law แทน กฎหมายแพ่งในหลายสาขา
ฝ่ายบริหาร: ประมุขของรัฐ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซ ซัดดิน วัดเดาละห์ (His Majesty Paduka Seri Baginda Sultan Haji Hassanal Bolkiahu’izzaddin Waddaulah) ทรงเป็นประมุขของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2510
หัวหน้ารัฐบาล สมเด็จพระราชาธิบดีทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
คณะรัฐมนตรี แต่งตั้งและเป็นประธานโดยสมเด็จพระราชาธิบดี
การเลือกตั้ง ไม่มี สมเด็จพระราชาธิบดีสืบทอดตามตระกูล

ข้อมูลเศรษฐกิจ 
ระบบเศรษฐกิจของบรูไนเป็นแบบตลาดเสรี ภายใต้การดูแลของรัฐ รายได้หลักของประเทศมาจากน้ำมัน ประมาณ 48% และก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 43% นับเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย คือประมาณ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน และผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก คือประมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ (Brunei National Petroleum Company Sedirian Berhad หรือ Petroleum Brunei) ซึ่งจัดตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายน้ำมันและก๊าซ โดยมุ่งเน้นสร้างความมั่งคั่งด้วยการนำรายได้จากน้ำมันไปลงทุนในต่างประเทศ หรือร่วมทุนกับต่างประเทศ โดยดำเนินการผ่าน Brunei Investment Agency (BIA) ในรูปการถือหุ้นหรือซื้อพันธบัตรในยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเวียดนาม โดยส่วนใหญ่อาศัยผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์เป็นผู้ให้คำปรึกษา

เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของบรูไน คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (ส่งออกถึงร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด) ทำให้บรูไนมีดุลการค้าเกินดุลมาโดยตลอด สินค้าส่วนใหญ่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ ไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐ ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐเกาหลี ตามลำดับ ในขณะที่สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ และมาเลเซีย โดยเป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์ เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ และสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและผลไม้

บรูไนมีอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่บ้าง ได้แก่ การผลิตอาหาร เครื่องมือ และเสื้อผ้า เพื่อส่งออกไปยังประเทศในยุโรปและอเมริกา ทั้งนี้ รัฐบาลบรูไนมุ่งที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและผลิตเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ วัสดุก่อสร้างที่ไม่ใช่โลหะ กระจกรถยนต์ เป็นต้น แต่ยังคงประสบอุปสรรคด้านการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะช่างฝีมือ ซึ่งต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศเป็นหลัก และตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็ก

การเมืองและสังคม: 
บรูไนรุ่งเรืองและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 15 และ 16 เมื่อได้ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะบอร์เนียวและส่วนหนึ่งของหมู่เกาะซูลู (Sulu) มีชื่อเสียงทางการค้า สินค้าส่งออกที่สำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ การบูร พริกไทย และทองคำ หลังจากคริสตศตวรรษที่ 15 บรูไนเริ่มเสื่อมอำนาจลง ในขณะที่สเปนและดัชท์ได้แผ่อำนาจเข้ามาจนทำให้บรูไนต้องเสียดินแดนและเสื่อมลงมากจนถึงสมัยคริสตศตวรรษที่ 19

ในปี 2431 (ค.ศ. 1888) บรูไนได้ยินยอมอยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษ เนื่องจากความกังวลว่าจะต้องเสียดินแดนต่อไปอีก ต่อมา ในปี 2449 (ค.ศ. 1906) บรูไนได้ลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษ ยินยอมอยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ

ในปี 2472 (ค.ศ. 1929) บรูไนสำรวจพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เมือง Seria ทำให้บรูไนมีฐานะมั่งคั่งขึ้นในเวลาต่อมา ในปี 2505 (ค.ศ. 1962) บรูไนได้จัดการเลือกตั้ง โดยพรรคประชาชนบอร์เนียว (Borneo People’s Party) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ถูกกีดกันไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล และได้มีความพยายามที่จะยึดอำนาจจากสุลต่านในเวลาต่อมา แต่สุลต่านทรงได้รับความช่วยเหลือจากกองทหารกูรข่าของอังกฤษที่ส่งตรงมาจากสิงคโปร์ หลังจากนั้น บรูไนมีการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยต่ออายุทุกๆ 2 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากอยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษมานานถึง 95 ปี บรูไนได้รับเอกราช เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 (ค.ศ. 1984)

การเมืองการปกครอง 
รัฐธรรมนูญปัจจุบันซึ่งแก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 กำหนดให้สุลต่านทรงเป็นอธิปัตย์ คือ เป็นทั้งประมุขของประเทศ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นชาวบรูไนมีเชื้อสายมาเลย์โดยกำเนิด และจะต้องเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่

นโยบายหลักของประเทศ ได้แก่ การสร้างความเป็นปึกแผ่นภายในชาติ และดำรงความเป็นอิสระของประเทศ บรูไนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสิงคโปร์ แม้ว่าจะถูกโอบล้อมโดยมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ทางตอนใต้ เนื่องจากมีสถานะที่คล้ายคลึงกันกับสิงคโปร์หลายประการ เช่น การเป็นประเทศขนาดเล็ก และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมุสลิมขนาดใหญ่

นับจากการพยายามยึดอำนาจเมื่อปี 2505 รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึก ยังผลให้ไม่มีการเลือกตั้ง รวมทั้งบทบาทพรรคการเมืองได้ถูกจำกัดลงอย่างมาก จนปัจจุบัน พรรคการเมือง Parti Perpaduan Kebangsaan Brunei (PPKB) และ Parti Kesedaran Rakyat (PAKAR) ไม่มีบทบาททางการเมืองมากนัก เนื่องจากถูกรัฐบาลควบคุมด้วยมาตรการต่างๆ เช่น กฎหมาย Internal Security Act (ISA) ซึ่งห้ามชุมนุนทางการเมือง และอาจถูกถอดถอนจากการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองได้ ตลอดจนห้ามข้าราชการ ซึ่งมีจำนวนกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด เป็นสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากนี้ รัฐบาลยังเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีพรรคการเมือง เนื่องจากประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอความช่วยเหลือจากข้าราชการของสุลต่านได้อยู่แล้ว

นโยบายเศรษฐกิจ 
ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังพยายามพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นเพื่อเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันและก๊าซเป็นหลักไปสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันสำรองที่ยืนยันแล้ว (proven reserve) ของบรูไนจะหมดลงในราวปี 2558 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเอเชียตั้งแต่ปี 2543 ทำให้บรูไนเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และใช้มาตรการต่างๆเพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ได้แก่

  1. จัดตั้งสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ นำโดยเจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีแนวทางในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ
  2. ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่เน้นนโยบายการให้สวัสดิการ มาเป็นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และมีการขยายฐานการจัดเก็บภาษี
  3. ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การลงทุนในต่างประเทศของ BIA โดยหันมาลงทุนในธุรกิจด้านใหม่ๆที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การซื้อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม หรือธุรกิจสายการบิน
  4. ตามแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 (The Eighth National Development Plan: 8th NDP) ซึ่งดำเนินการระหว่างปี 2544-2548 รัฐบาลบรูไนได้ตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ 5-6% โดยเน้นการสร้างสมดุลของงบประมาณให้ดีขึ้น และกำหนดมาตรการในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบยั่งยืน สร้างการขยายตัวและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก ขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจบางกิจการ และสร้างความแข็งแกร่งในระบบการเงินและการคลัง นอกจากนี้ ยังยึดแนวคิดของระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) และมุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคเอกชน
  5. ส่งเสริมการลงทุนร่วมกับต่างชาติ สนับสนุนการเปิดเสรีการค้า และสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ
  6. พัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยว (Service Hub for Trade and Tourism – SHuTT 2003 Vision) และตั้งเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งในโครงการความร่วมมือของกลุ่ม Brunei Indonesia Malaysia Philippines – East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA)
  7. สร้างความเข้มแข็งของระบบการเงิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและเอื้ออำนวยต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคพื้นฐาน และกำหนดแผนพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านการเงินระหว่างประเทศ (Brunei International Financial Center: BIFC) เพื่อพัฒนาการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศ กระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสในการทำงานให้กับประชาชน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการพัฒนาของภาคเอกชนซึ่งถือเป็นแกนหลักในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ออกกฎหมาย Investment Incentive Act (1975) และได้จัดตั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรพื้นฐาน (Ministry of Industry and Primary Resources)ในปี 2532 ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนแก่ธุรกิจตลอดทั้งวงจร ตั้งแต่ช่วงเริ่มจัดตั้ง ช่วงการเจริญเติบโต ช่วงอิ่มตัว และช่วงขยายงาน โดยกิจกรรมทางอุตสาหกรรม สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
  1. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารแห่งชาติ
  2. อุตสาหกรรมสำหรับตลาดภายในประเทศ
  3. อุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ และ อุตสาหกรรมเพื่อตลาดส่งออก
นโยบายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำลังคน การเป็นเจ้าของกิจการ การสนับสนุนของรัฐบาล และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังคงเปิดและยืดหยุ่นสำหรับกิจกรรมทางอุตสาหกรรมทุกประเภท และยังคงใช้แนวทางในการจัดการที่เป็นไปได้ นโยบายเรื่องการเป็นเจ้าของกิจการ อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ถือหุ้นส่วนใหญ่ และถือหุ้นส่วนน้อย ตามแต่ประเภทของอุตสาหกรรมและสถานการณ์ มีเพียงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารแห่งชาติและใช้ทรัพยากรภายในประเทศที่ยังคงต้องมีผู้ถือหุ้นในประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมสำหรับตลาดภายในประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารแห่งชาติและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100%

บรูไนให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ทุกพื้นที่ต้องปราศจากมลพิษและมีความสมดุลทางนิเวศน์ เนื่องจากรัฐบาลยึดหลักปรัชญาการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น อุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกประเภทจะถูกห้าม และเกณฑ์ประการหนึ่งในการคัดเลือกอุตสาหกรรม คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น